foto1
Internet & Security
foto1
Learn to build your website
foto1
Try to our Goal!
foto1
Tip & Tricks to use Computer
foto1
Operating System


Our Sponsor

side 1

Easyhome Group

krumontree200x75
isangate com 200x75
ppor 200x75
isangate net 200x75
 e mil

No. of Page View

blood donate

solar rooftop

ติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านลดค่าไฟฟ้ากัน

ตามที่เรารู้ๆ กันว่า "ค่าไฟฟ้า" ของประเทศไทยเรานั้นมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างแน่นอน ด้วยการคิดค่า FT (Float time) ซึ่งมีความหมายว่า การลอยค่าของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ราคาเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น ตามช่วงเวลาต่างๆ ที่ใช้เป็นกรอบในการคำนวณ การปรับเรียกเก็บค่าไฟฟ้าล่าสุดในรอบ "เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565" โดยให้เรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 4.00 บาทต่อหน่วย ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงเป็นประวัติการณ์ มีปัจจัยหลักมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนนั่นเอง

ft electric

นอกจากนั้น อัตราค่าไฟฟ้า ที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้ายังคิด "แบบอัตราก้าวหน้า" ด้วย หมายความว่า ยิ่งใช้มากยิ่งคิดราคาต่อหน่วยแพงมากขึ้น ดังนี้

1. หากใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน

สำหรับค่าไฟฟ้าในอัตราปกติแบบก้าวหน้า หากการใช้ไฟฟ้าในบ้านอยู่อาศัยไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน จะมีอัตราค่าไฟฟ้าในแต่ละขั้น ดังนี้

  • 15 หน่วยแรก (หน่วยที่ 1-15) หน่วยละ 2.3488 บาท
  • 10 หน่วยถัดไป (หน่วยที่ 16-25) หน่วยละ 2.9882 บาท
  • 10 หน่วยถัดไป (หน่วยที่ 26-35) หน่วยละ 3.2405 บาท
  • 65 หน่วยถัดไป (หน่วยที่ 36-100) หน่วยละ 3.6237 บาท
  • 50 หน่วยถัดไป (หน่วยที่ 101-150) หน่วยละ 3.7171 บาท

2. หากใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน

สำหรับค่าไฟฟ้าในอัตราปกติแบบก้าวหน้า หากการใช้ไฟฟ้าในบ้านอยู่อาศัยเกินกว่า 150 หน่วยต่อเดือน จะมีอัตราค่าไฟฟ้าในแต่ละขั้น ดังนี้

  • 150 หน่วยแรก (หน่วยที่ 1-150) หน่วยละ 3.2484 บาท
  • 250 หน่วยถัดไป (หน่วยที่ 151-400) หน่วยละ 4.2218 บาท
  • หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป ราคาหน่วยละ 4.4217 บาท

ft up up

ซึ่งผู้เขียนเป็นผู้ประสบภัยค่าไฟฟ้าในข้อ 2. คือ ใช้เกิน 150 หน่วยต่อเดือน นั่นเอง ในช่วงหน้าร้อนเมษายนเคยไปถึง 610 หน่วย ประมาณ 2,585 บาทมาแล้ว ล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา 362 หน่วย 1,615.90 บาท จึงได้เวลาแล้วจะต้องหันมาใช้พลังงานทดแทนจาก "โซลาร์เซลล์" เข้ามาเสริม ลงทุนกันทีเดียวเพื่อให้ค่าไฟฟ้าลดลงไปในช่วงกลางวัน ย้ำ! อีกที เฉพาะที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าในเวลากลางวันมาก เท่านั้น

หากยังมีไฟฟ้าที่ผลิตเหลือจากการใช้งาน ก็สามารถขายคืนให้กับทางการไฟฟ้าไป ในราคาหน่วยละ 2.20 บาท ตามโครงการจัดหาไฟฟ้าภาคประชาชน ลองไปอ่านรายละเอียดกันดูนะครับ

เงื่อนไขสำคัญสำหรับการติดโซลาร์เซลล์ระบบออนกริด

  • มีการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันมาก ยิ่งมากยิ่งประหยัด สุดคุ้ม
  • มีคนอยู่บ้านเป็นประจำในช่วงกลางวันทุกวัน เป็นสำนักงาน หรือ Work from Home หรือมีผู้ป่วยติดเตียง
  • มีพื้นที่และโครงสร้างหลังคาที่แข็งแรง มั่นคง และมีมุมในการรับแดดได้มากสุดตลอดวัน (ทิศใต้หรือทิศตะวันตก) ไม่มีเงาบังจากต้นไม้ อาคารสูง

my home

ที่บ้านผู้เขียนนั้นเป็นบ้านชั้นเดียว มีหลังคาที่รับแดดได้ดีทั้งด้านทิศตะวันตก (ในภาพ) และทิศใต้ เหมาะอย่างยิ่งที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์ใช้งานเพื่อลดค่ากระแสไฟฟ้า สามารถติดตั้งระบบ On Grid 1 Phase 5 kW ได้ (บ้านที่มีมิเตอร์ไฟฟ้าเฟสเดียว ติดได้สูงสุด 5kW บ้านที่ใช้มิเตอร์ไฟฟ้า 3 เฟส ติดตั้งได้สูงสุด 10 kW) จึงตัดสินใจให้ "บริษัทรับเหมา" ติดตั้งมาดำเนินการให้ เพราะค่าใช้จ่ายนั้นจะเหมารวมค่าการดำเนินการออกแบบ เขียนแบบ มีวิศวกรไฟฟ้า-โยธามารับรอง เพื่อยื่นคำขออนุญาตจากท้องถิ่น (การดัดแปลงอาคารติดตั้งส่วนประกอบเพิ่มเติม) การขนานไฟฟ้าเข้ากับระบบจำหน่ายของการไฟฟ้า การขออนุญาตขายกระแสไฟฟ้าส่วนเกินคืนเข้าระบบ ถ้าไปดำเนินการเองจะยุ่งยากเสียเวลา (ยอมจ่ายดีกว่า) โดยใช้งบประมาณ 170,000 บาท (การติดตั้งออนกริด 3 เฟส 10 kW ราคาจะเพิ่มอีกประมาณเท่าตัว)

ส่วนถ้าใครคิดว่า จะดำเนินการติดตั้งเอง หรือมีช่างมาติดให้ แล้วไปดำเนินการขออนุญาตติดตั้งเอง ก็จะมีค่าใช้จ่ายเฉพาะอุปกรณ์ในการติดตั้ง (เกรดดี) ทั้งหมดประมาณ 110,000 บาท ถ้าเลือกอุปกรณ์เกรดลดลงกว่านี้อีกหน่อยก็จะตกประมาณ 90,000 บาท (ไม่แนะนำให้เลือกใช้แผงโซลาร์มือสองนะครับ ถ้าติดบนหลังคาสูงๆ เปลี่ยนเองได้ยาก เพราะอายุการใช้งานที่ผ่านมาเราไม่ทราบได้ว่านานหรือยัง จะเสียหายเมื่อไหร่ ผู้ขายรับประกันแค่ 3 เดือน มีความเสี่ยงมาก แผงมือสองมาจากไหน? ก็มาจากการเปลี่ยนอุปกรณ์ของผู้ทำโซลาร์ฟาร์มขายไฟฟ้าให้ กฟผ. นั่นแหละ มันยังไม่เสียแต่ประสิทธิภาพลดลงเขาจึงเปลี่ยนออก) บวกกับค่าช่างติดตั้ง ค่าเขียนแบบ ค่าลงนามรับรองโดยวิศวกร ก็คงจะถูกกว่าผมไม่มากนัก

สิ่งที่ต้องเตรียมคือ เอกสารสำหรับใช้ประกอบคำขออนุญาต ได้แก่ ใบเสร็จชำระค่าไฟฟ้าในเดือนที่ผ่านมา บัตรประจำตัวประชาชนเจ้าของบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ใช้ไฟฟ้าตามใบเสร็จ (กรณีเป็นชื่ออื่นที่ไม่ใช่เจ้าของบ้าน) สำเนาทะเบียนบ้าน และส่วนที่ผู้รับดำเนินการติดตั้งดำเนินการคือ สำรวจหน้างานสถานที่ติดตั้ง แล้วเขียนแบบแปลนหลังคา โครงสร้างการติดตั้ง แผนผังการติดตั้งอุปกรณ์ รายการอุปกรณ์ (มาตรฐานที่ได้รับการรับรองจากการไฟฟ้า) ลงนามโดยวิศกรไฟฟ้า วิศวกรโยธา คำขอในการดัดแปลงอาคารกับองค์การปกครองท้องถิ่น (อบต. เทศบาล) คำขออนุญาตขนานไฟฟ้ากับการไฟฟ้า และคำขอขายไฟฟ้าคืนกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

สำหรับอุปกรณ์ในการติดตั้งที่ผมเลือกใช้หลักๆ มีดังนี้

  • แผงโซลาร์เซลล์ มาตรฐาน LONGi 545W Mono Half-Cell Tier 1 จำนวน 9 แผง ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 4.9 kW (ไม่เกินที่ กฟภ. อนุญาตสำหรับผู้ใช้งานประเภท 1 บ้านพักอาศัย มิเตอร์ไฟฟ้า 1 เฟส) รับประกันตัวแผงและวัสดุ 12 ปี และรับประกันประสิทธิภาพยาวนานตลอดอายุการใช้งาน สูงถึง 25 ปี (มาตรฐานของแผงมี 3 ระดับคือ Tier 1, Tier 2 และ Tier 3 คุณภาพความเชื่อมั่นลดหลั่นกันไป ***)
  • เครื่องแปลงสัญญาณไฟฟ้า DC/AC Inverter Huawei 2000-5KTL-L1 จำนวน 1 เครื่อง รับประกันโดยศูนย์จำหน่ายในไทย 10 ปี
  • มิเตอร์ควบคุมการใช้ไฟฟ้า Smart Power Senser และกันย้อน CT จำนวน 1 ชุด
  • อุปกรณ์ในการติดตั้ง เช่น รางยึดอะลูมิเนียม, Clamp, ท่อ-รางร้อยสายไฟ. สายไฟโซล่าเซลล์ PV1-F ขนาด 4 ตร.มม., กล่องคอนโทรล, ฟิวส์สวิทช์, คัทเอาท์, ตัวกรองกระแสไฟฟ้ากันกระชากทั้ง AC/DC, แท่งทองแดงหลักดินสำหรับสายกราวด์ด้าน DC ความยาว 2.4 เมตร ทั้งหมดรวม 1 ชุด

component set

*** แผงโซลาร์เซลล์จะแบ่งระดับจากการวัดคุณภาพของโรงงานผู้ผลิตและคุณสมบัติของแผงโซลาร์เซลล์ เป็น 3 ระดับ ได้แก่ Tier 1, Tier 2, Tier 3 ซึ่งจัดอันดับโดย Bloomberg New Energy Finance ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย Tier 1 จะเป็นระดับที่มีคุณภาพสูงสุด และต้องผ่านการพิจารณาหลายปัจจัย เช่น ด้านประสิทธิภาพของวัสดุที่ผลิต ความยั่งยืนและความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้ผลิตที่ต้องมีประสบการณ์มากกว่า 5 ปี มีนโยบายการลงทุนวิจัยและพัฒนาแผงของบริษัทผู้ผลิต ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต

ติดตั้งโซลาร์เซลล์ลดค่าไฟฟ้าตอนกลางวัน

การออกแบบสำหรับการติดตั้งโซลาร์เซลล์นั้น จากการสำรวจและดูทิศทางของแสงแดดในแต่ละวัน เงาบังที่เกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมรอบข้างพบว่า มีแนวทางติดตั้งได้ใน 2 ตำแหน่ง คือ ทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตก คำนวณพื้นที่สำหรับติดตั้งซึ่งมีข้อมูลความกว้างและยาวของแผงแต่ละแผ่นเท่ากับ 113 x 225 เซนติเมตร จำนวน 9 แผ่น จัดตำแหน่งติดตั้งได้ดังในภาพ

roof plan

  • แนวทางที่ 1 ติดตั้งแผงเป็น 2 ชุด (string) ชุดที่ 1 ด้านทิศใต้รับแสงแดดได้ดีช่วงเวลา 08.30 - 14.30 น. จำนวน 5 แผ่น และชุดที่ 2 ด้านทิศตะวันตกที่ได้รับแสงแดดได้ดีในช่วงเวลา 11.00 - 16.00 น. จำนวน 4 แผง แต่จะมีเงาบังจากต้นไม้บ้างในช่วง 15.00 - 17.00 น.
  • แนวทางที่ 2 ติดตั้งแผงเป็น 2 ชุด (string) เช่นเดิม ในด้านทิศใต้รับแสงแดดได้ดีช่วงเวลา 08.30 - 14.30 น. โดยชุดแรกจำนวน 5 แผ่นในแถวล่าง อีกชุด 4 แผ่นในแถวบน

installation 4

การติดตั้งจริงใช้แนวทางที่ 2 ซึ่งสะดวกกว่าในการดำเนินการติดตั้งยึดกับโครงหลังคา และให้ประสิทธิภาพดีที่สุดในช่วงเวลากลางวัน ไม่มีเงาบังจากสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดเป็น 2 ชุดเพราะในตัวอินเวอร์เตอร์รุ่นนี้รองรับแผงได้ 2 strings อยู่แล้ว หากมีชุดใดชุดหนึ่งมีปัญหา (แผงแต่ละชุดต่ออนุกรมกัน) อีกชุดก็ยังทำงานแทนได้อยู่ จากการใช้งานจริงหลังการติดตั้งพบว่า พอมีแสง ก็ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทันที (ย้ำว่า 'แสง' แดดยังไม่จ้า ก็เริ่มผลิตได้แล้วตั้งแต่ฟ้าเปิดยันฟ้าปิด ดูกราฟท้ายบทความ)

การติดตั้งโซลาร์เซลล์สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความปลอดภัย ในการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ป้องกันการเกิดอัคคีภัยจากอุปกรณ์ หรือความเสียหายจากความร้อน ฟ้าผ่า และอื่นๆ จึงควรใช้อุปกรณ์ป้องกันคุณภาพสูง ต่อเชื่อมกันด้วยความแน่นหนา เรียบร้อย ให้ช่างที่มาแก้ไขหน้างานในภายหลังทำงานสะดวก รวดเร็วที่สุด อย่าขี้เหนียวงบประมาณในส่วนนี้ รวมทั้งการติดตั้งสายดินในฝั่ง DC ให้ดีแน่นหนา ใช้แท่งทองแดงความยาว 2.4 เมตร สายดินขนาด 10 sq.mm. ขึ้นไป

installation 5

โดยมีการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ต่างๆ เข้าด้วยกันตามไดอะแกรมด้านล่างนี้

rooftop diagram

เหตุผลหนึ่งที่เลือกอุปกรณ์ติดตั้งชุดนี้อยู่ที่ตัว Inverter เป็นยี่ห้อ Huawei ที่รองรับการต่อพ่วงเข้ากับชุดแบตเตอรี่สำรองไฟได้ในอนาคต (รอมีเงิน โชคดีถูกหวยรวยลอตเตอรี่ก่อน) มี Smart Power Senser มาให้เพื่อติดตั้ง CT กันไฟย้อนกลับไปยังระบบจ่ายของการไฟฟ้า และควบคุมการใช้กระแสไฟฟ้าจากโซลาร์เซลให้เพียงพอกับการใช้งานก่อน หากไม่เพียงพอ (เกินขีดจำกัดแล้ว หรือมีแสงแดดน้อย) จึงค่อยดึงให้กระแสไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายของการไฟฟ้า ทำให้เราประหยัดค่าไฟฟ้านั่นเอง และยังมีแอพพลิเคชั่นเพื่อดูรายละเอียดการผลิตและจ่ายไฟที่เชื่อมผ่าน Cloud ทาง Wi-Fi หรือ 4G ได้ด้วย

installation 1

การติดตั้งใช้เวลาหนึ่งวันเต็มๆ สำหรับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ กล่องควบคุม อินเวอร์เตอร์ ฝังกราวด์ (สายดิน) ฝั่งไฟ DC และอีกครึ่งวันถัดมาสำหรับช่างในการเข้าสาย (wiring) กับระบบให้สมบูรณ์ ตรวจเช็คละเอียดทุกจุดในขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะเปิดระบบขนานกับระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าที่เราใช้งานปกติ

installation 2

เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ก็ทำการจัดการด้านซอฟท์แวร์ของระบบอินเวอร์เตอร์ เชื่อมต่อกับเครือข่ายภายในบ้าน เพื่ออัพข้อมูลการผลิตของแผงโซลาร์เซล และการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับ Load ในบ้าน เข้าไปในระบบ Cloud Server Huawei แบบเรียลไทม์ ที่ทำให้เราสามารถดูข้อมูลการผลิตระบบของเรา ผ่านแอพพลิเคชั่น FusionSolar ในอุปกรณ์เคลื่อนที่ทั้ง iOS และ Android ที่เราสามารถล็อกอินเข้าสู่ระบบเพื่อดูรายละเอียดต่างๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา

installation 3

หน้าตาของซอฟท์แวร์ FusionSolar ในมือถือของผู้เขียน กับการใช้งานระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านวันแรก จะรายงานผลการใช้กระแสไฟฟ้าของ อุปกรณ์ (Load) รวมภายในบ้านทั้งหมด การผลิตกระแสไฟฟ้าจาก แผงโซลาร์ (PV) และการจ่ายไฟฟ้าเสริมมาจาก การไฟฟ้า (Grid) จะเป็นภาพเคลื่อนไหวการไหลของกระแสในช่วงเวลานั้น และกำลังไฟฟ้ามีหน่วยเป็น kW ให้ทราบ รวมทั้งแสดงเป็นกราฟในเมนูถัดไป แสดงช่วงเวลาของการผลิตไฟได้ ผลรวมของพลังงานที่ผลิตและใช้ไปในรอบวัน เดือน ปี ดีมากครับ

day2 graph

กราฟแสดงผลการผลิตกระแสไฟฟ้าเส้นสีน้ำเงิน วันที่ 15 สิงหาคม 2565 เริ่มผลิตเวลา 06.15 น. หยุดผลิตเวลา 17.45 น. ท้องฟ้ามีเมฆฝนบังบางเวลา ไม่ใสกระจ่างมากนัก การใช้ไฟฟ้าภายในบ้านน้อยคือ เปิดใช้งานพัดลม 1 ตัว โทรทัศน์ 1 เครื่อง คอมพิวเตอร์ 3 เครื่อง และเครื่องปรับอากาศขนาด 24,000 BTU 1 เครื่อง (เวลา 08.45 น.) เปิดอีกตัว 12,000 BTU (เวลา 15.00 น.) ปิดทั้งสองตัวเวลา 17.20 น. ถ้าสังเกตจะเห็นว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตามความต้องการของโหลดที่ใช้งานภายในบ้าน มีเพียงบางช่วงที่มีการดึงกระแสไฟฟ้าจากกริดของ กฟภ. เส้นกราฟสีแดง เนื่องจากฟ้าปิด มีเมฆมาก และฝนตก ยังสามารถผลิตได้มากกว่านี้อีก แต่จะมีกระแสไฟฟ้าไหลย้อนไปที่มิเตอร์ของการไฟฟ้า (ในตอนนี้เรายังติด CT ตัวกันย้อนไม่ไปทำให้มิเตอร์การไฟฟ้าหมุนกลับ จนกว่าเราจะได้รับอนุญาตขายไฟฟ้าคืนให้ กฟภ. เปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบวัด In-Out เราจึงจะปลดตัวกันย้อนออกได้ ก็จะสามารถผลิตได้เต็มกำลังไม่ต่ำกว่า 4.5 Kw คือเหลือๆ ครึ่งต่อครึ่งสำหรับขายคืน) ทำตามกฎหมายให้ถูกต้องกันนะครับ ไม่งั้นโดนปรับอานเลยนะ

day3 graph

กราฟการผลิตวันที่ 16 สิงหาคม 2565 #day3 วันนี้ท้องฟ้าปิด มีเมฆมาก ฝนตกเป็นระยะๆ จึงได้กระแสไฟฟ้าน้อยมากแต่เพียงพอต่อการใช้งานในบ้านที่มีตู้เย็น หม้อหุงข้าว กระติกน้ำร้อน เปิดพัดลม โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ในการทำงานได้ชิวๆ มีช่วงกราฟแดงๆ พุ่งสูงตอนดึงไฟจากกริดมาใช้ในตอนอาบน้ำเปิดเครื่องทำน้ำอุ่นบ้างเท่านั้นเอง

สำหรับผลการใช้งานจริงๆ เป็นเช่นไรนั้น ขอเวลานิดหนึ่งสัก 2-3 วันจะมาอัพเดทให้ทราบต่อไป รวมทั้งผลการประหยัดในรอบเดือนว่าคุ้มค่าหรือไม่ครับ รวมทั้งผลของการขออนุญาตขายไฟฟ้าคืนที่ยังรอผลอยู่ (ผู้รับดำเนินการให้แจ้งว่ารอประมาณ 45 วัน แต่ผมทำใจคูณ 3 ไว้ก่อนแหละ ระบบราชการไทยๆ แฟ้มมันเดินเองไม่เป็น ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายรออยู่คือ ค่าเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าจากตัวเดิมวัดการใช้งาน (ขายให้เรา) อย่างเดียวมาเป็นแบบดิจิทัลวัดทั้งไฟฟ้าขาเข้าและออก ประมาณ 3-5 พันบาท) โปรดรอและติดตามต่อไปครับ...

redline

พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ | ติด Solar Rooftop 5kW | การประหยัดค่าไฟได้จริงหรือ | ขายไฟฟ้าคืนให้ กฟภ.

สนับสนุนให้ Easyhome อยู่รับใช้ท่านตลอดไป ด้วยการคลิกแบนเนอร์ไปเยี่ยมผู้สนับสนุนของเราด้วยครับ
นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่เว็บไซต์ Easyhome in Thailand เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)